คำนำ
ทิตัสเป็นคนต่างชาติที่กลับใจมาเป็นคริสเตียน และได้เป็นเพื่อนร่วมงาน และผู้ช่วยของเปาโลในงานพันธกิจของท่าน เปาโลเขียนจดหมายถึงทิตัส ผู้ช่วยหนุ่มของท่านซึ่งอยู่ที่เกาะครีต เปาโลละทิตัสไว้ที่นั่นเพื่อให้ดูแลงานของคริสตจักร จดหมายฉบับนี้แสดงความห่วงใยสามประการด้วยกันคือ
(1) เตือนทิตัสให้ระลึกถึงคุณลักษณะที่ผู้นำคริสตจักรควรจะมีโดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงอุปนิสัยไม่ดีของชาวครีตจำนวนมาก
(2) แนะนำทิตัสว่าจะสอนคนกลุ่มต่างๆ ในคริสตจักรอย่างไร กลุ่มเหล่านี้ ได้แก่ กลุ่มชายสูงอายุ กลุ่มหญิงสูงอายุ (ผู้จะต้องไปสอนหญิงที่อายุน้อยกว่าต่อไป) กลุ่มชายหนุ่ม และกลุ่มทาส
(3) แนะนำทิตัสถึงความประพฤติตามแนวทางของคริสเตียน โดยเฉพาะความจำเป็นที่จะต้องรักสันติและเป็นมิตรและการหลีกเลี่ยงความเกลียดชัง การโต้แย้ง และการแตกแยกในคริสตจักร
ผู้เขียน
จากคำขึ้นต้นแสดงว่าเป็นจดหมายส่วนตัวที่อัครทูตเปาโลเป็นผู้เขียน
เวลาและสถานที่เขียน
จดหมายฉบับนี้คงจะเขียนในเวลาใกล้เคียงกับจดหมาย 1 ทิโมธี คือช่วงปี ค.ศ.63-64 ส่วนสถานที่เขียนนั้นไม่ทราบแน่นอน แต่น่าจะอยู่บนเส้นทางไปเมืองนิโคบุรี คือชายฝั่งด้านตะวันตกของประเทศกรีซ
ผู้รับ
ผู้รับจดหมายคือทิตัส เป็นชาวกรีก (กท.2:3) ที่เปาโลนำมาเชื่อ (ดูคำอธิบาย 1:4) ทิตัสได้ร่วมงานประกาศของเปาโลมาตลอด (2 คร.2:12-13; 7:6,13; 2 ทธ.4:10) ชื่อเขาปรากฏครั้งแรกใน กท.2:1-3 เมื่อเปาโลกับบารนาบัสเดินทางไปกรุงเยรูซาเล็มเพื่อปรึกษากับอัครทูตคนอื่นๆ ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในการประกาศข่าวประเสริฐ และหลังจากเปาโลได้รับการปล่อยตัวจากการจำจองครั้งแรกในกรุงโรม เปาโลส่งทิตัสไปทำงานกับคริสตจักรที่เกาะครีต และทิตัสได้อยู่ที่นั่นจนกระทั่งเปาโลส่งอารเทมาสหรือทีคิกัสมารับช่วงงานต่อ (3:12) เขาจึงมีโอกาสเดินทางไปพบเปาโลที่นิโคบุรี และในระหว่างที่เปาโลถูกจำจองครั้งที่ 2 ในกรุงโรมนั้นก็เป็นช่วงที่ทิตัสถูกส่งไปปฏิบัติหน้าที่ในเมืองดาลมาเทีย (2ทธ.4:10)
วัตถุประสงค์
วัตถุประสงค์คล้ายคลึงกับจดหมาย 1 ทิโมธี คือแนะนำและหนุนใจทิตัสในการทำพันธกิจที่เปาโลมอบหมายให้ที่เกาะครีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแต่งตั้งผู้ปกครองคริสตจักร การตักเตือนคริสตชนที่นั่นให้ดำเนินชีวิตสอดคล้องกับความจริงของพระเจ้า และการแก้ไขความเชื่อที่ผิดเพี้ยน นอกจากนี้เปาโลยังได้กำชับให้เขาช่วยจัดส่งเศนาสและอปอลโลในการเดินทางรับใช้ต่อไป รวมทั้งนัดหมายให้ทิตัสเดินทางไปพบเปาโลที่เมืองนิโคบุรีหลังจากอารเทมาสหรือทีคิกัสเดินทางไปถึงแล้ว
ลักษณะสำคัญ
1. จุดเน้นของทิตัสคล้ายคลึงกับ 1 ทิโมธี คือ ความสำคัญของการจัดการและบริหารคริสจตจักรอย่างเรียบร้อยถูก ต้อง
2. เน้นเรื่องพฤติกรรมที่ดี เช่น สอนพวกทาสให้เชื่อฟังนายของตนในทุกสิ่ง ไม่โต้เถียง กระตืนรือล้นในการทำดีเพราะเราได้รับการไถี และการชำระให้บริสุทธิ์โดยพระองค์ จงเชื่อฟังผู้มีอำนาจ และพร้อมที่จะกระทำดี รักสงบ เห็นอกเห็นใจผู้อื่นและถ่อนสุภาพต่อคนทั้งปวง จงกระทำดีเพราะสิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์แก่ทุกคน